โลโก้เว็บไซต์ คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ถวายรายงานผลการสนองงานพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปี 2561 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

คณะผู้บริหาร มทร.ล้านนา ถวายรายงานผลการสนองงานพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ประจำปี 2561

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 13 กุมภาพันธ์ 2562 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 6195 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒ ดร.สว่าง ภู่พัฒน์วิบูลย์ ประธานคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่แทนสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมด้วย รศ.ศีลศิริ สง่าจิตร ผู้ปฏิบัติหน้าที่อธิการบดี และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เฝ้ารับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินการสนองงาน ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ และพระราชทานพระราชานุมัติให้ดำเนินงาน จำนวน ๔ โครงการประกอบด้วย
๑. โครงการพัฒนาพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชผักและพืชอาหาร ๑๑ ชนิด
๒. โครงการผลิตเมล็ดผักประจำปี ๒๕๖๑
๓. โครงการบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืช
จักรพันธ์เพ็ญศิริ
๔. โครงการผลิตแตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศจักรพันธ์ ๑ (เบอร์ ๒) และ มะเขือเทศจักรพันธ์ ๒ (เบอร์ ๔) ตลอดทั้งปี ในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ

มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
โครงการที่ ๑ การพัฒนาพันธุ์และรักษาพันธุ์พืชผักและพืชอาหาร ๑๑ ชนิด
เป็นการพัฒนาพันธุ์พืช ๑๑ ชนิด ได้แก่ พริกขี้หนูสวน พริกขี้หนูใหญ่ (ชี้ฟ้า) พริกใหญ่ (หนุ่ม) มะเขือเทศ มะเขือเปราะ แตงกวา ถั่วฝักยาว ถั่วฝักยาวไร้ค้าง ผักกวางตุ้ง บวบเหลี่ยม ฟักทอง และข้าวโพดเทียนหวาน แนวทางการพัฒนาพันธุ์พืชยึดหลักการอยู่ ๓ ลักษณะคือ
๑. ใช้ฐานพันธุกรรมพืชผักพื้นเมืองที่มีลักษณะแข็งแรงทนทานปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีเป็นหลัก และเสริมด้วยพันธุกรรมที่มีการพัฒนาแล้ว รวมทั้งการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์ให้เป็นพันธุ์ผสมเปิด เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกเองได้ต่อเนื่อง
๒. คัดเลือกให้ได้พันธุ์ที่เจริญเติบโตได้ดี มีความแข็งแรงทนทานต่อโรค และแมลง
๓. มีผลผลิตที่ดี ทั้งปริมาณ และคุณภาพ ใกล้เคียงกับพันธุ์การค้า
ตลอดระยะเวลาที่ร่วมสนองงานศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้พัฒนาพันธุ์พืชทั้ง ๑๑ ชนิดมาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทางทั้ง ๓ แนวทางดังกล่าว จากนั้นนำพันธุ์พืชที่คัดเลือก และพัฒนาให้เป็นพันธุ์ที่ดีพอสมควรแล้ว ดำเนินการปลูกรักษาพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ในกลุ่มประชากรอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ และในปี ๒๕๖๑ ได้ดำเนินการส่งมอบข้อมูลให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ พิจารณาขึ้นทะเบียนพันธุ์ จำนวน ๒ ชนิดพืช ได้แก่ ฟักทองผลเล็ก
ลายข้าวตอก และผักกวางตุ้งดอก
โครงการที่ ๒ การผลิตเมล็ดผักประจำปี ๒๕๖๑
ดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ ๗ ชนิดพืช โดยผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ครบจำนวน ๕ ชนิดได้แก่ เมล็ดพันธุ์ แตงกวา กวางตุ้ง ฟักทอง มะเขือเทศ และ บวบเหลี่ยม ส่วนอีก ๒ ชนิด ได้แก่ พริกใหญ่ และ คะน้า คาดว่าจะส่งครบตามจำนวนที่ได้กำหนดไว้ในเดือน พฤษภาคม ๒๕๖๒
โครงการที่ ๓ การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
เพื่อเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สนับสนุนการใช้สารชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ลดการใช้สารเคมี
ทางการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีการดำเนินงานดังนี้
๑. สนับสนุนการผลิตสารชีวภัณฑ์ สารสกัดจากพืช เชื้อรากำจัดแมลง เชื้อราป้องกันกำจัดโรคพืช ให้เพียงพอในการใช้งาน เป้าหมายใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี ๑๐๐% นอกจากนี้พยายามนำไส้เดือนฝอยมาร่วมกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี วิธีการเลี้ยงเพิ่มจำนวน และการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ รวมทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดตั้งห้องปฏิบัติการการผลิตชีวภัณฑ์ของศูนย์จักรพันธ์เพ็ญศิริ
๒. มหาวิทยาลัยได้จัดทำโครงการเพิ่มเติม ในการให้ความรู้ด้านการใช้และการผลิตสาร
ชีวภัณฑ์เช่น เชื้อรากำจัดโรคพืช เชื้อรากำจัดแมลง และส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร ที่จะเป็นแหล่งวัตถุดิบการผลิตสารชีวภัณฑ์ เช่น หางไหล ไพล ทองพันชั่ง พลู เป็นต้น ให้แก่ตัวแทนเกษตรกรเครือข่ายศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จำนวน ๕๒ ครัวเรือน
๓. ตรวจวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหารในปุ๋ยน้ำหมักสูตรต่างๆ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการปรับการใช้ปุ๋ยดังกล่าวให้เหมาะสมต่อช่วงการเจริญเติบโตของพืชผักแต่ละชนิดต่อไป

โครงการที่ ๔ การผลิตแตงกวาผลสั้น แตงกวาผลยาว มะเขือเทศจักรพันธ์ ๑ (เบอร์ ๒) และ มะเขือเทศจักรพันธ์ ๒ (เบอร์ ๔) ผลสดทั้งปีในพื้นที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
 การผลิต แตงกวาผลสด เป้าหมาย จำนวน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม ส่งครบตามกำหนด
 การผลิต มะเขือเทศจักรพันธ์ ๑ (เบอร์ ๒) และ มะเขือเทศจักรพันธ์ ๒ (เบอร์ ๔) เป้าหมาย จำนวน ๑,๒๐๐ กิโลกรัม ส่งครบตามกำหนด
          ในโอกาสเดียวกันนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อพันธุ์พืช ๒ ชนิด ประกอบด้วย ฟักทองผลเล็ก พันธุ์ลายข้าวตอก ทรงพระราชทานชื่อว่า "ฟักทองประกายดาวล้านนา" และผักกวางตุ้งดอก ทรงพระราชทานชื่อว่า กวางตุ้งเหลืองล้านนา" โดยมหาวิทลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะได้นำเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนพันธุ์ กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในลำดับต่อไป
           สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงดำเนินการจัดตั้ง "ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ" ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ณ ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา ในครั้งที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๒ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมด้านพืชกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในการรวบรวมพันธุ์พืชอาหารพื้นบ้าน ปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืชให้เกษตรกร ได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดีที่จะคัดเลือกพันธุ์ที่ดี เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานให้แก่ราษฎรทั่วไปรวมถึงราษฎรที่ประสบภัยพิบัติเพื่อให้เกษตรกรนำพันธุ์ไปขยายหรือปลูกเอง เป็นรายได้เลี้ยงชีพในอนาคต
นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมแรงร่วมพลังสานต่อพันธกิจ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีกิจกรรมคือ
๑. การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช
๒. การทดสอบความเสถียรของพันธุ์พืช
๓. การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักพื้นเมืองพันธุ์ดี
๔. การผลิตต้นกล้าไม้ผลพื้นเมือง
๕. การผลิตพืชผลสด
๖. การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยภายในศูนย์ และชุมชนเครือข่าย
การดำเนินการทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ๆ หลากหลายสายพันธุ์และยังสามารถอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นบ้านที่เกือบสูญหาย สามารถศึกษาองค์ความรู้ใหม่จากการพัฒนาพันธุ์พืชคณาจารย์ได้พัฒนาองค์ความรู้และความสามารถทางวิชาการ นักศึกษาได้รับการพัฒนาความรู้จากการฝึกปฏิบัติจริง Social Lab เกิดการบูรณาการการทำงานระหว่างคณะต่างๆอีกด้วย







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon