เผยแพร่เมื่อ : เสาร์ 12 พฤษภาคม 2561 โดย นางสาวเกศกนก เนตรวงศ์ จำนวนผู้เข้าชม 4916 คน
มทร.ล้านนา ลำปางร่วมกับชมรมไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง) จัดประกวดไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง) เพื่อการ อนุรักษ์พันธุกรรมสัตว์พื้นเมือง
วันเสาร์ที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ สินทวีวรกุล ผู้อำนวยการกองการศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง เปิดเผยว่า มทร.ล้านนา ลำปาง ร่วมกับชมรมไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง) จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการจัดการประกวดไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ – ไก่ตั้ง) เพื่อเป็นการส่งเสริม อนุรักษณ์พันธุกรรมสัตว์พื้นเมือง โดยเฉพาะไก่แจ้ไทย ให้คงอยู่ตลอดไป กิจกรรมดังกล่าวยังเชื่อมโยงไปกับการบริการวิชาการ ของมทร.ล้านนา ลำปาง ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ทิศทางการพัฒนาพันธุ์ไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ – ไก่ตั้ง) เพื่อเพิ่มมูลค่า แบ่งเป็นกิจกรรมการอนุรักษ์พันธุกรรมและการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ พันธุ์และลักษณะสีประจำพันธุ์ไก่แจ้ไทย (ไก่ตั้ง – ไก่ต่อ) เพศผู้ และเพศเมีย
การจัดประกวดไก่แจ้ดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท 1 ประเภทไก่ขยันขัน 2 ประเภท สวยงาม 3 ประเภทไก่หมาน โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า ๕๐ คน นำไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง)จากจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และลำปาง ประมาณ 150 ตัว เข้าร่วมกิจกรรม สำหรับกฎ กติกา รางวัลจัดประกวดแข่งขัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ กล่าวว่า ไก่แจ้ประเภทสวยงาม ชิงถ้วยรางวัล (ค่าลงทะเบียน ฟรี) จำนวน ๓ รางวัล ประเภทขยันขันเพศผู้ ชิงถ้วยรางวัลพร้อมเงินสด รางวัลชนะเลิศ รับถ้วยรางวัลและเงินสด จำนวน ๑,๕๐๐ บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ ถ้วยรางวัลพร้อมเงินสด ๑,๐๐๐ บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินสด ๕,๐๐๐ บาท อันดับที่๔-๘ รับเงินสดจำนวน ๓๐๐ ท โดยมีการแข่งขันทั้งหมดจำนวน ๓ ยก ๆ ละ ๕ นาที และสุดท้ายประเภทต่อหมานเพศผู้ ชิงถ้วยรางวัล (ค่าลงทะเบียนฟรี) จำนวน ๓ รางวัลและนำไก่ลงแข่งขันไม่เกิน ๔ ตัวต่อท่าน ตัดสินและมอบรางวัลเวลา ๑๕.๐๐ น.
นอกจากจะเป็นการพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างผู้เลี้ยงไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง) ด้วยกัน ในด้านต่างๆ มีประชาชนที่ให้ความสนใจนำไก่แจ้มาประกวด ชม เชียร์ ให้กำลังใจกันอย่างล้นหลาม ซึ่งเป็นนิมิตหมายอันดีว่า ควรจัดกิจกรรมการประกวดไก่แจ้ไทย (ไก่ต่อ-ไก่ตั้ง) ใน งานต่างของ มทร.ล้านนา ลำปาง อาทิ งานวันเด็กและราชมงคลแฟร์ งานวันวัฒนธรรม ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ เป็นการประชาสัมพันธุ์มหาวิทยาลัยฯ และกิจกรรมดังกล่าวสามารถปลูกจิตสำนึกให้เด็ก และเยาวชนมีนิสัยรักสัตว์ มีความเอื้อเฟื้อ มีความเมตา โอบอ้อมอารี มีความรับผิดชอบ และห่างไกลจากยาเสพติดอีกด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ สินทวีวรกุล ผู้อำนวยการกองการศึกษา กล่าวปิดท้าย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา