โลโก้เว็บไซต์ คณะนักวิจัย มทร.ล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่ ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม ทดสอบการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรยกระดับการผลิตเมล็ดถั่วลิสง | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

คณะนักวิจัย มทร.ล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่ ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม ทดสอบการใช้เครื่องจักรทางการเกษตรยกระดับการผลิตเมล็ดถั่วลิสง

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 2 พฤษภาคม 2561 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 2296 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         30 เมษายน 2561 คณะนักวิจัยภายใต้โครงการ การพัฒนาแนวทางการลดปริมาณอะฟลาทอกซินในห่วงโซ่การผลิตถั่วลิสง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่ อบต.เสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ทดสอบประสิทธิภาพการใช้เครื่องขุดถั่วลิสงแบบติดพ่วงกับรถไถขนาดเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวถั่วลิสงและลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวร่วมกับเกษตรกร
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไกรสีห์  พิสิษฐ์กุล หัวหน้าโครงการวิจัยการพัฒนาแนวทางการลดปริมาณอะฟลาทอกซินในห่วงโซ่การผลิตถั่วลิสง เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้มุ่งเน้นในการพัฒนาเทคโนโลยีในการลดปริมาณอะฟลาทอกซินในห่วงโซ่การผลิตเมล็ดถั่วลิสงตั้งแต่แปลงปลูกถั่วลิสง การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาฝักถั่วลิสง การกะเทาะ การคัดแยกเมล็ด และการบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถผลิตถั่วลิสงที่ปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน มกษ 4702-2557 โดยการวิจัยมีการดำเนินงาน 11 กิจกรรม ประกอบด้วย การสร้างกลุ่มเกษตรกรผลิตถั่วลิสงปลอดภัย การประยุกต์ใช้เชื้อรา Trichoderma spp เพื่อยับยั้งการสร้างสารอะฟลาทอกซิน การประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดปริมาณสารอะฟลาทอกซินและยกระดับการผลิตเมล็ดถั่วลิสงตามมาตรฐาน มกษ 4702 การปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บรักษาฝักถั่วลิสง  การพัฒนาห้องปฏิบัติการวิเคราะห์อะฟลาทอกซิน การพัฒนาระบบสืบค้นย้อนกลับในอุตสาหกรรมถั่วลิสง  การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อลดปริมาณอะฟลาทอกซินและเพิ่มมูลค่าสำหรับเมล็ดถั่วลิสงที่บกพร่องแต่ผ่านมาตรฐาน มกษ 4702-2557   การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสำหรับเมล็ดถั่วลิสงที่บกพร่องและไม่ผ่านมาตรฐาน มกษ 4702-2557  การสร้างความตระหนักถึงอันตรายของอะฟลาทอกซินแก่ผู้ค้าปลีกเมล็ดถั่วลิสงและผู้บริโภค  การวิเคราะห์ต้นทุนของการผลิตเมล็ดถั่วลิสงตามมาตรฐาน มกษ 4702-2557 และกิจกรรมการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการลดปริมาณอะฟลาทอกซินในห่วงโซ่การผลิตเมล็ดถั่วลิสงแบบครบวงจร 
          ด้านอาจารย์ ดร.สุวรรณ  จันทร์อินทร์ หัวหน้ากิจกรรมการประยุกต์ใช้เครื่องขุดถั่วลิสงแบบติดพ่วงกับรถไถขนาดเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวถั่วลิสงและลดระยะเวลาในการเก็บเกี่ยว กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยของกิจกรรมที่ 3 การประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรเพื่อลดปริมาณสารอะฟลาทอกซินและยกระดับการผลิตเมล็ดถั่วลิสงตามมาตรฐาน มกษ 4702 โดยมีทีมนักวิจัยประกอบด้วย อาจารย์ สรายุทธ มาลัยพันธุ์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ พงศกร สุรินทร์ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมกับเกษตรกร โดยคัดเลือกเกษตรกรที่สมัครใจและมีความพร้อมในด้านแปลงทดลองจำนวน 3 ครัวเรือน ในการออกแบบและพัฒนาเครื่องขุดถั่วลิสงร่วมกัน ในการทดสอบประสิทธิภาพการเก็บเกี่ยวพบว่า ต้นถั่วที่มียาวเกินไปมีผลต่อการป้อนและลำเลียงต้นและฝักถั่วที่ได้จากการขุดรวมถึงดินบางส่วนที่ติดขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอุตัดตรงคานยึดตัวหมุนเพลา GTO ซึ่งขณะนี้ทางทีมวิจัยได้ทำการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และจะทำการทดสอบประสิทธิภาพอีกครั้ง เพื่อทำการเปรียบเทียบการเก็บเกี่ยวถั่วลิสงระหว่างการใช้เครื่องขุดกับการใช้แรงงานคน รวมถึงผลลัพธ์และต้นทุนในการเก็บเกี่ยว
          การลงพื้นที่โครงการวิจัยดังกล่าวมีคณะทำงานจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) องค์การบริหารส่วนตำบลเสริมขวา ร่วมสังเกตการณ์และให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเครื่องขุดถั่วลิสงร่วมกัน โอกาสนี้คณะนักวิจัยยังได้ลงพื้นที่โรงงานถั่วลิสงแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางเพื่อเยี่ยมชมห้องควบคุมความชื้นต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นกิจกรรมการปรับปรุงประสิทธิภาพการเก็บรักษาฝักถั่วลิสงในโครงการวิจัยฯ  และเครื่องกะเทาะขนาดเล็กเพื่อลดปัญหาการแตกหักของเมล็ดถั่วลิสงในขั้นตอนการกะเทาะอีกด้วย
          ข่าว/ภาพ : จารุวรรณ  สุยะ
          ที่มาของข่าว : ดร.พวงทอง  วังราษฎร์ / สำนักงานฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มทร.ล้านนา ลำปาง
 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา