เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 19 มกราคม 2561 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 1572 คน
18 มกราคม 2561 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จัดงานฉลองครบรอบสถาปนามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปีที่ 13 พร้อมเปิดโครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือและโรงเรียนเกษตรกร รุ่นที่ 1 เพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ สังคม และ ยกระดับผลผลิต ผลิตภัณฑ์สู่อาหารอนาคต ณ ลานหน้าอาคารอำนวยการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดยได้รับเกียรติจากนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานและเปิดโรงเรียนเกษตรกร รุ่นที่ 1 ( Farmer University)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เปิดเผยว่า โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือ เป็นโครงการที่ขยายผลมาจากตากโมเดล ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการร่วมกับจังหวัดตาก โดยทำตามแบบอย่างโครงการหลวง-เกษตรที่สูง ในรูปแบบประชารัฐ ยกระดับเกษตร 4.0 เกษตรแปลงใหญ่ สู่เกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ในปลายปี 2560 มหาวิทยาลัยฯ จึงมีแนวคิดในการยกระดับโครงการนี้ขึ้นเป็นโครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ภาคเหนือ มีรูปแบบการดำเนินงานจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ บริหารจัดการโดยบริษัทพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกภาคเหนือในรูปแบบประชารัฐ โดยมีเกษตรกร สภาอุตสาหกรรมจังหวัดภาคเหนือ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยในภาคเหนือ ฯลฯ ร่วมขับเคลื่อน เพื่อแก้ปัญหาทางการเกษตร ยกระดับเศรษฐกิจ สังคม ผลผลิตของเกษตรกร
สำหรับโรงเรียนเกษตรกรเพื่อเกษตรอุตสาหกรรม (RMUTL : Smart Farmer School) เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการภายใต้โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ภาคเหนือ เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทยไปสู่นักจัดการระบบนิเวศเกษตรอุตสาหกรรม โดยมีหลักการของโรงเรียน 10 ข้อ คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การสอน เกษตรกรเป็นผู้เชี่ยวชาญ ใช้ฟาร์มเป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกประสบการณ์อย่างบูรณาการศาสตร์ มีการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบ วิเคราะห์นิเวศของเกษตรอุตสาหกรรม กำหนดการเรียนรู้ที่จำเพราะต่อความต้องการ สร้างผู้นำและการทำงานเป็นทีม มีการวัดและประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยนำร่อง 5 พืช 5 จังหวัด ประกอบด้วย กล้อมหอม สับปะรด (MD2) มะม่วงน้ำดอกไม้ ขิง และกระเจี๊ยบเขียว โรงเรียนเกษตรกรฯ แบ่งหลักสูตรเป็น 2 ประเภท คือ หลักสูตรสำหรับมือใหม่ และหลักสูตรสำหรับมืออาชีพ ศึกษา 4 ชุดความรู้ ประกอบด้วย การตลาดซื้อขายล่วงหน้า ระบบการผลิตเกษตรอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเพื่อกระบวนการผลิต และการจัดการคุณภาพผลิตผล ทั้งนี้เกษตรเมื่อได้รับเลือกเรียนรู้และฝึกปฏิบัติครบตามชุดความรู้ของพืชชนิดหนึ่ง จะได้รับประกาศนียบัตรและใบรับรองผลการเรียนรู้เพื่อสะสมหน่วยกิตไว้ หากต้องการศึกษาในระบบการศึกษาของมหาวิทยาลัยก็สามารถเทียบโอนรายวิชาที่ได้ศึกษาไปแล้วและประสบการณ์จากการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ตามระเบียบ ข้อบังคับของมหาวิทยาลัยที่กำหนดไว้ รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวในตอนท้าย
โครงการเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ภาคเหนือ เกิดจากการน้อมนำเอาโครงการพัฒนาเกษตรบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ในรูปแบบประชารัฐ ตลาดนำการผลิต ผลิตผลปลอดภัย ผลิตในรูปแบบอุตสาหกรรม ภายใต้ Branding “สวนพันดอย” ซึ่งหมายถึงสวนของเกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือนับร้อยนับพันดอยที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ จึงพร้อมกันนำแนวทางอันงดงามนั้นมาปฏิบัติอย่างจริงจัง รวมถึงการเป็นเป้าหมายแห่งความภาคภูมิใจ เป็นจุดหลวมรวมทั้งเกษตรผู้ผลิตซึ่งได้รับการเสริมสร้างความรู้จากภาครัฐ สถานศึกษา กลุ่มธุรกิจเอกชน สภาอุตสาหกรรม และหอการค้า ฯลฯ ในการเป็นผู้เชื่อมโยงไปสู่การค้าการขายทั้งในและต่างประเทศ
ข่าว / ภาพ : จารุวรรณ สุยะ
ที่มาของข่าว : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา