เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 3 ธันวาคม 2558 โดย นริศรา สกุลสอน จำนวนผู้เข้าชม 841 คน
สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ส่งมอบเครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยผลงานสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษาแก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหมวกคาวบอยบ้านแลง หมู่ 2 ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2558 เพื่อใช้ประโยชน์ในกลุ่มอาชีพ สร้างรายได้แก่สมาชิก โดยมี นายทิศ พรมปิงเครือ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุญนาคพัฒนา และนางอัญชลี อินนวล ประธานกลุ่มผลิตหมวกคาวบอยบ้านแลงเป็นผู้รับมอบ
อาจารย์พงศกร สุรินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการการออกแบบและสร้างเครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยด้วยวิธีกดตัด กล่าวว่า สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้เป็นผลงานของนายธนรัตน์ หวานสุดใจ นายนวคุณ คำเครือ และนายรัชชานนท์ สุขศรีวรรณ นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ภายใต้งานวิจัยโครงการยกระดับปริญญานิพนธ์เป็นงานตีพิมพ์สร้างสรรค์ ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยส่งเสริมให้นักศึกานำองค์ความรู้มาสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ไขปัญหา พัฒนาชุมชนท้องถิ่น โดยจากการดำเนินงาน คณะทำงานได้ศึกษาปัญหาและตรวจสอบขั้นตอนการผลิตหมวกคาวบอย พบว่าขั้นตอนการเจาะรูหมวกมีการกำหนดจุดและร่างแบบทุกชิ้น โดยใช้เครื่องตอกตาไก่ในการเจาะรูทีละรู ใช้เวลา 15-20 นาทีต่อชิ้นงาน มีผู้ชำนาญเพียง 2 คนเท่านั้น ส่งผลให้การผลิตหมวกคาวบอยล่าช้า ไม่สามารถส่งสินค้าตามระยะเวลาได้ ทีมนักศึกษาจึงได้ออกแบบและสร้างเครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยด้วยวิธีกดตัดขึ้นเพื่อลดระยะเวลาการทำงานและแก้ไขปัญหาในขั้นตอนดังกล่าว
ด้านนางอัญชลี อินนวล ประธานกลุ่มผลิตหมวกคาวบอยบ้านแลง ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง กล่าวว่า เครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยด้วยวิธีกดตัด เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถใช้งานได้จริง สามารถลดระยะเวลาในขั้นตอนการเจาะรูหมวกคาวบอยได้ถึง10 นาทีต่อชิ้น ทำให้กลุ่มสามารถผลิตหมวกคาวบอยได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า ขอขอบคุณทางคณะทำงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ที่ได้ศึกษาและสร้างสิ่งประดิษฐ์นี้ให้กลุ่มอาชีพได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันในการสร้างงานสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของสมาชิกกลุ่ม
เครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยด้วยวิธีกดตัดออกแบบตามต้นแบบของชุมชน มีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน คือ ตัวเครื่อง แบบแม่พิมพ์ด้วยวิธีกดตัดส่วนปีกหมวก ส่วนตัวหมวก และส่วนฝาปิดด้านบน มีวิธีการทำงานที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว โดยการนำแบบยางพาราที่ตัดเรียบร้อยแล้วมาใส่ในแบบพิมพ์ด้วยวิธีกดตัด จากนั้นกดแม่พิมพ์ลงจนสุด จึงยกคันโยก 1 ครั้ง เพื่อเจาะรูด้วยวิธีการกดตัดแทนการตอกตาไก่ หมุนเครื่องขึ้นเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของการเจาะรู นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ผลงานของนักศึกษาบัณฑิตนักปฏิบัติที่สามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง โดยมี ดร.สุวรรณ จันทร์อินทร์ อ.เสกสรร เจียรสุวรรณ และ อ.พงศกร สุรินทร์ เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยในการส่งมอบ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการกล่าวในตอนท้าย
ข่าว/ภาพ : จารุวรรณ สุยะ
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา