โลโก้เว็บไซต์ สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มทร.ล้านนา ลำปาง สาธิตการใช้เครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยแก่ผู้ประกอบการก่อนส่งมอบนำไปใช้ในวิสาหกิจชุมชน | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ มทร.ล้านนา ลำปาง สาธิตการใช้เครื่องเจาะรูหมวกคาวบอยแก่ผู้ประกอบการก่อนส่งมอบนำไปใช้ในวิสาหกิจชุมชน

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 3 ตุลาคม 2560 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 4853 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          2 ตุลาคม 2560 ณ อาคารปฏิบัติการคณะวิศวกรรมศาสตร์  สาขาเทคโนโลยีอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง  สาธิตการใช้เครื่องเจาะชิ้นส่วนหมวกคาวบอยแก่ผู้ประกอบการกลุ่มผู้ผลิตหมวกคาวบอยยางพารา ต.บุญนาคพัฒนา  โดยมีนางอัญชลี  อินนวล ประธานกลุ่มผลิตหมวกคาวบอยบ้านแลง พร้อมทีมงานรับชมการสาธิตวิธีการใช้และบำรุงรักษาก่อนนำไปใช้จริงในสถานประกอบการ
         อาจารย์พงศกร  สุรินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการการออกแบบและพัฒนาเครื่องเจาะชิ้นส่วนหมวกคาวบอย เปิดเผยว่า สิ่งประดิษบ์ชิ้นนี้เป็นการบูรณาการงานบริการวิชาการเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชาโครงงานเทคโนโลยีอุตสาหการ ของนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีอุตสาหการ โดยเป็นผลงานของนายธวัชชัย ยวนใจ นายวิทวัส อุดดีวงค์และนายสุทัศน์ปานประยูร นักศึกษาหลักสูตร 2 ปีต่อเนื่อง  ชั้นปีที่ 2 ซึ่งเกิดจากการลงพื้นที่ศึกษาปัญหาด้านการผลิตหมวกคาวบอย ในขั้นตอนการตัดชิ้นส่วนหมวกด้วยมีดคัตเตอร์พบว่ามีความสูญเสียจากการทำงานด้านเวลาอันส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตของกลุ่ม  ดังนั้นจึงมีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาโดยการออกแบบและสร้างเครื่องตัดชิ้นส่วนหมวกระบบไฮดรอลิกส์สำหรับนำมาใช้ในขั้นตอนดังกล่าว เพื่อลดขั้นตอนการวาดแบบลงบนแผ่นยางพาราและขั้นตอนการตัดสิ้นส่วนหมวกด้วยมีดคัตเตอร์ อีกทั้งเพิ่มผลผลิตในขั้นตอนการตัดชิ้นส่วนหมวกให้สูงขึ้นและมีคุณภาพต่อไป
          ด้านนายธวัชชัย ยวนใจ หนึ่งในนักศึกษาเจ้าของผลงานกล่าวว่า เครื่องเจาะชิ้นส่วนหมวกคาวบอยมีการออกแบบและสร้างให้รองรับระบบไฮดรอลิกส์ เพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานของกลุ่ม โดยเครื่องนี้จะช่วยให้การทำงานในขั้นตอนการตอกเจาะรูมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานมากขึ้นแทนการเจาะด้วยมือ ภายในเวลา 30 วินาทีต่อชิ้นงาน  จากเดิมใช้เวลา 15-20 นาที การทำงานชองเครื่องประกอบด้วยตัวเครื่อง แบบแม่พิมพ์ด้วยวิธีกดด้วยระบบไฮดรอลิกส์ ส่วนปีกหมวก ส่วนตัวหมวก และส่วนฝาปิดด้านบน โดยใช้งานร่วมกับไฟ 220 โวลล์ควบคุมการทำงานผ่านคัทเอาท์ ทำให้ผู้ใช้สามารถใช้งานได้สะดวกและประหยัดเวลามากขึ้น
ขณะที่นางอัญชลี  อินนวล ประธานกลุ่มผลิตหมวกคาวบอยบ้านแลง กล่าวว่า เครื่องเจาะชิ้นส่วนหมวกคาวบอยด้วยระบบไฮดรอลิกส์นี้ สามารถตอบโจทย์ด้านการผลิตของกลุ่มได้เป็นอย่างดี ช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนการผลิตได้ถึง 10 บาทต่อชิ้นงาน นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักศึกษาที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง
          การออกแบบและพัฒนาเครื่องเจาะรูหมวกคาวบอย เป็นหนึ่งในพันธกิจด้านการวิจัยและบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ภายใต้โครงการบริการวิชาการเพิ่มขีดความสามารถสถานประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ 2560 กรณี กลุ่มผู้ผลิตหมวกคาวบอยยางพารา บ้านแลง ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง และเป็นกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นฝึกบัณฑิตนักปฏิบัติอีกด้วย
          ข่าว/ภาพ : จารุวรรณ  สุยะ
          ที่มาของข่าว : อ.พงศกร  สุรินทร์ / เยาวลักษณ์ ธาตุรักษ์ ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ 
 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon