เผยแพร่เมื่อ : พุธ 16 กรกฎาคม 2568 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 127 คน
กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU และนักวิจัย ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญ Talent Mobility
เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00–16.00 น. ณ ห้องประชุม BILL อาคารศูนย์การเรียนรู้การเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี กลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา นำโดย นายสุทธิศักดิ์ สุขัมศรี หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยในโครงการ Talent Mobility ร่วมเข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบ่งปันประสบการณ์ และเสนอแนะเพื่อปรับปรุงหลักสูตรอบรมผู้เชี่ยวชาญให้เหมาะสมกับความต้องการของสถานประกอบการและทิศทางการพัฒนาโครงการ
คณะนักวิจัย Talent Mobility ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ประกอบด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชินานาฏ วิทยาประภากร (คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เขตพื้นที่เชียงใหม่)
นายกรวัฒน์ วุฒิกิจ (คณะวิศวกรรมศาสตร์ เขตพื้นที่เชียงใหม่)
นายครรชิต เงินคำคง (คณะวิศวกรรมศาสตร์ เขตพื้นที่เชียงใหม่)
นายกิตติ วิโรจรัตนาภาพิศาล (คณะวิศวกรรมศาสตร์ เขตพื้นที่ตาก)
นางสาวสุวรรณี จันต๊ะวงค์ (คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ เขตพื้นที่ลำปาง)
กิจกรรมครั้งนี้มีการบรรยายเพื่อสร้างองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกลยุทธ์และแผนปฏิบัติด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) สำหรับสถานประกอบการ โดย ดร.ภัทราภรณ์ กันยะมี คณะกรรมการบริหารโครงการ Talent Mobility ถ่ายทอดประสบการณ์การกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ (Strategic Issues) ให้แก่ผู้เข้าร่วม
จากนั้น รศ.ดร.ศักดิ์เกษม ระมิงค์วงศ์ หัวหน้าหน่วยวิจัยการจัดการโซ่อุปทานและวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน Talent Mobility รูปแบบใหม่ผ่านระบบสนับสนุน TMS (Talent Mobility System) ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการสร้างกลยุทธ์และแผนปฏิบัติด้านวิจัยและพัฒนาสำหรับสถานประกอบการ และ นายศิรัสก์ ศิริสวัสดิ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ (สป.อว.) ได้สร้างความเข้าใจในมุมมองของคณะกรรมการผู้พิจารณาข้อเสนอโครงการ Track 2.2 ให้แก่ผู้เข้าร่วม
ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ “การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสร้างกลยุทธ์และแผนปฏิบัติด้านการวิจัยและพัฒนา (Developing Experts in R&D Strategy and Plan Formulation for SMEs)” โดย รศ.ดร.อภิชาต โสภาแดง คณบดีวิทยาลัยพหุวิทยาการและสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อหารือแนวทางปรับปรุงหลักสูตร Talent Mobility Track 2.1
ตลอดทั้งวัน ผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้ถึงสิ่งสำคัญที่นักวิจัยควรคำนึงในการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ เช่น การเข้าใจ Core Technology / Core Value & Solution ของสถานประกอบการ การพัฒนา R&D Roadmap และการเชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาของสถานประกอบการเข้ากับแผนวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืน
นอกจากนี้ กิจกรรมยังเปิดโอกาสให้นักวิจัยได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอื่น ๆ สร้างเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยพัฒนาข้อเสนอโครงการในอนาคต และมองเห็นแนวทางการดำเนินงานโครงการ Talent Mobility ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
“การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและกลยุทธ์วิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและความยั่งยืนของประเทศ”
คำค้น : การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญ, Talent Mobility
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา