เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 17 ตุลาคม 2560 โดย นางสาวเกศกนก เนตรวงศ์ จำนวนผู้เข้าชม 2609 คน
บทความโดย...
เกศกนก เนตรวงศ์ นักประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา ลำปาง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 719 ถนนพหลโยธิน หมู่ที่ 17 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ห่างจากตัวเมืองลำปางประมาณ 12 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เดิมของสถานที่แห่งนี้ เป็นที่ดอนป่าละเมาะ บริเวณพื้นที่อยู่เหนือคลองชลประทาน ห้วยขอนห่ม ล้อมรอบด้วยเทือกเขา ผีปันน้ำ ต้นกำเนิดแม่น้ำวัง เป็นแนวตลอดทิศตะวันออกของพื้นที่
จากจุดเริ่มต้น ตามแผนงบประมาณของกรมอาชีวศึกษา โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง จะได้รับการจัดตั้งขึ้น ในปีงบประมาณ ๒๕๑๘ แต่คณะอาจารย์เกษตรกรรมเชียงใหม่ และคณะสื่อมวลชนลำปาง ได้พยายามที่จะให้บริเวณพื้นที่แห่งนี้ อยู่ในโครงการใช้ที่ดิน เพื่อให้เป็นประโยชน์ของวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ และได้สำรวจที่ดินสาธารณะหลายแห่งในจังหวัดลำปาง จนพบพื้นที่ก่อตั้ง โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง
ภายหลังจากโรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง ได้รับการปลูกสร้างอาคารชั่วคราวต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๓ วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ได้นำนักศึกษา จำนวน ๑๔๗ คน มาทดลองศึกษาและปฏิบัติงานที่จังหวัดลำปาง โดยมี อาจารย์สุทิน ห้วยเรไร เป็นอาจารย์ใหญ่ ...ด้านวิชาการ ได้รับความร่วมมือ จากครู อาจารย์โรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง ได้แก่ โรงเรียนอาชีวศึกษาลำปาง โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย โรงเรียนลำปางกัลยาณี ช่วยสอนโดยไม่คิดค่าตอบแทน
จนกระทั่งสิ้นปีการศึกษา ๒๕๑๔ ไม่สามารถดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ จึงคืนสถานที่ให้กับจังหวัดลำปาง พร้อมกับยกคณะครูอาจารย์และนักศึกษากลับ
ดังนั้น ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๕ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมลำปางขึ้น โดยแต่งตั้งให้นายวัลลภ ชูติวัตร ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่ ประจำสถาบันแห่งนี้ และได้รับนักเรียนเข้าศึกษา ชั้นปีที่ ๑ เป็นปีแรก จำนวน ๑๑๓ คน
สภาพปีแรกของโรงเรียน ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ ซึ่งยังไม่ได้บุกเบิก คณะครูอาจารย์ และนักเรียนรุ่นแรก จึงใช้เวลาในการปฏิบัติงาน ทำการปรับปรุง-บุกเบิกพื้นที่ของโรงเรียน
ในปีแรกที่พักของนักเรียน เป็นกระท่อมมุงหญ้าคา เรียงรายเป็นลักษณะรูปเกือกม้า แม้แต่อาคารเรียน ก็เป็นกระท่อมเช่นกัน จนกระทั่งปลายปี ๒๕๑๕ จึงได้รับงบประมาณสร้างอาคารเรียน บ้านพักอาจารย์ หอพักนักเรียน แทงก์น้ำ ทำให้สภาพเก่า ๆ ของโรงเรียนได้ถูกรื้อถอนและเปลี่ยนแปลงใหม่เกือบทั้งสิ้น
โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง ได้ถูกจัดตั้งขึ้นมาในช่วงระยะเวลาอันสั้น แต่ก็ได้รับ การสร้างสรรค์ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และนับได้ว่า เป็นสถาบันการศึกษา ทางการเกษตรที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งในภาคเหนือ เมื่อปี ๒๕๑๘ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดตั้ง “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ โดยมีฐานะเป็นกรมหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ และได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรลำปาง”
เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๑ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้รับพระราชทานนามใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ เป็น “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”
วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันพุธ ที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นต้นมา ดังนั้น..สถาบันแห่งนี้ จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง”
และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเป็นผู้นำในการจัดการศึกษา บนฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology-Based) บูรณาการ การเรียนการสอน กับการปฏิบัติงานจริง (Work Integrated Learning; WIL) เสริมสร้างคุณลักษณะบัณฑิตให้เป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรมและจิตสาธารณะได้รับการสถาปนาขึ้น ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ประกอบด้วย 6 พื้นที่กับ 1 สถาบัน ได้แก่พื้นที่เชียงราย พื้นที่ตาก พื้นที่น่าน พื้นที่พิษณุโลก พื้นที่ภาคพายัพ เชียงใหม่ พื้นที่ลำปาง และสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำมีความเลิศในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ (Hands-on) ที่มุ่งสู่ความเป็นมืออาชีพ (Professional) สู่การเป็นมหาวิทยาลัยนวัตกรรมเพื่อชุมชน
ในปี ๒๕๖๐ นี้ จึงเป็นเป็นครบรอบการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยมหาวิทยาลัยดำเนินการจัด งานสถาปนาครบรอบ ๔๕ ปี วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐
และวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๐ “งานฉลองครบรอบ ๔๕ ปี แม่วัง” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จัดโดยสมาคมศิษย์เก่าแม่วังร่วมกับมหาวิทยาลัย ณ บริเวณสนามกีฬา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา