โลโก้เว็บไซต์ คณะนักวิจัย มทร.ล้านนา ลำปาง จัดประชุมเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่โครงการวิจัยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรในเขตภาคเหนือตอนบนฯ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

คณะนักวิจัย มทร.ล้านนา ลำปาง จัดประชุมเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่โครงการวิจัยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรในเขตภาคเหนือตอนบนฯ

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 6 ตุลาคม 2560 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 2896 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          4 ตุลาคม 2560 คณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จัดประชุมเตรียมความพร้อมลงพื้นที่เก็บข้อมูลโครงการวิจัยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันธุรกิจกาแฟอาราบิก้าแบบครบวงจรในเขตภาคเหนือตอนบนภายใต้อิทธิพลการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน ณ ห้องประชุมอาคารสาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 15 คน
         รองศาสตราจารย์ ดร. วันเพ็ญ  จิตรเจริญ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ เปิดเผยว่า โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟให้แก่อุตสาหกรรมอาราบิก้าในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยเริ่มดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายต้นแบบแรกอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลแจ้ซ้อน อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ก่อนที่จะขยายไปในเขตชุมชนอื่น ซึ่งพื้นที่ตำบลแจ้ซ้อน มีการปลูกกาแฟกันอย่างแพร่หลาย จำหน่ายในรูปของผลเชอร์รี่กาแฟ กาแฟกะลา รวมถึงการบรรจุซองจำหน่ายในรูปเมล็ดกาแฟคั่ว  ปัญหาที่ชุมชนกำลังเผชิญคือการไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้เพราะยังขาดแคลนเครื่องมือการคั่วกาแฟ ต้องขนส่งกาแฟกะลาหรือสารกาแฟไปดำเนินการคั่วโดยจ้างช่างคั่วและเครื่องคั่วของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟดอยสะเก็ด นอกจากนี้ยังไม่สามารถทำการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์กาแฟของชุมชนให้เป็นที่แพร่หลาย ด้วยเหตุนี้ชุมชนและหน่วยงานราชการในท้องถิ่นจึงมีแนวคิดในการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาวิสาหกิจในการผลิตกาแฟเพื่อสร้างรายได้และสร้างความเข้มแข็งในชุมชน และเพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดซึ่งมีค่อนข้างสูงในตลาดกาแฟ
        ทางโครงการจึงมุ่งเน้นในการเพิ่มคุณภาพและกลิ่นรสของกาแฟด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างเป็นจุดขายให้กับกาแฟของชุมชน อันจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สร้างงานและอาชีพให้แก่ชุมชนเพื่อลดปัญหาการอพยพย้ายถิ่นฐาน บรรเทาปัญหาการลุกล้ำเขตพื้นที่ป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชไร่ การอนุรักษ์ดินและต้นน้ำให้อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ที่ไม่ประสบภาวะภัยแล้งในภาวะวิกฤต ซึ่งจะนำสู่ความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน หัวหน้าโครงการกล่าวในตอนท้าย
สำหรับการประชุมดังกล่าวมีการวางแผนและมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินงานของแต่ละกิจกรรมย่อยในโครงการ เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในโครงการต่อไป
       ข่าว : จารุวรรณ  สุยะ
       ภาพ : จตุพร โปธาคำ 
 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา