โลโก้เว็บไซต์ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้ “ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุกย่าง” สร้างรายได้สู่ชุมชนบ้านวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

สาขาอุตสาหกรรมเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่เผยแพร่องค์ความรู้ “ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุกย่าง” สร้างรายได้สู่ชุมชนบ้านวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 29 มกราคม 2559 โดย นริศรา สกุลสอน จำนวนผู้เข้าชม 650 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

    เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 อาจารย์ณัฎวลิณคล เศรษฐปราโมทย์ และ นายพลวัฒน์ ฉัตร์เงิน อาจารย์และนักศึกษา สาขาอุตสาหกรรมเกษตร หลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ลงพื้นที่เผยแพร่ความรู้งานวิจัยสู่ชุมชน เรื่องบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับน้ำพริกปลาดุกย่างบ้านวอแก้วตามโครงการวิจัยเรื่องการศึกษาบรรจุภัณฑ์น้ำพริกที่บริโภคได้หนึ่งมื้อ และทดสอบอายุการเก็บรักษาโดยวิธีเร่งของน้ำพริกปลาดุกย่าง ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการยกระดับปริญญานิพนธ์เป็นงานวิจัยตีพิมพ์ งานสร้างสรรค์ และงานบริการวิชาการสู่ชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2558 ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านวอแก้ว ตำบลวอแก้ว อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง             

    อาจารย์ณัฎวลิณคล เศรษฐปราโมทย์ เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุกย่างดังกล่าว ประกอบด้วย โปรตีน ร้อยละ 18.53 และไขมัน ร้อยละ 0.35 โดยมีคุณภาพทางจุลชีววิทยาเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.492-2548) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.321/2547) ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านวอแก้วจำหน่ายน้ำพริกในกระปุกพลาสติกเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีข้อเสียคือ มีขนาดบรรจุที่มากเกินไปทำให้รับประทานไม่หมด พกพาไม่สะดวก และมีความใสทำให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมเสียคุณภาพได้ง่าย ประกอบกับผลการสำรวจพบว่าผู้บริโภคร้อยละ 72 มีความสนใจในบรรจุภัณฑ์น้ำพริกที่บริโภคได้ครั้งเดียว (1 มื้อ) เนื่องจากมีความสะดวกในการบริโภค และพกพา ดังนั้นบรรจุภัณฑ์ที่มีความเหมาะสมที่หาซื้อได้ง่าย คือ ถุงอะลูมิเนียมฟอยล์ ซึ่งมีอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์อย่างมากที่สุด 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน               

    ด้านนายพลวัฒน์ ฉัตร์เงิน นักศึกษา สาขาอุตสาหกรรมเกษตร หลักสูตรพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร กล่าวเสริมว่า การเผยแพร่องค์ความรู้ในครั้งนี้ช่วยปรับปรุงกระบวนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุกย่างของ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านวอแก้ว โดยการปรับปรุงขนาด และชนิดของบรรจุภัณฑ์ของ ผลิตภัณฑ์น้ำพริกปลาดุกย่าง ให้ตรงตามความของการของผู้บริโภค     

    ขอบคุณข่าว/ภาพประกอบ : นายพลวัฒน์  ฉัตร์เงิน นักศึกษาสาขาอุตสาหกรรมเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา