เผยแพร่เมื่อ : พุธ 10 กุมภาพันธ์ 2559 โดย นริศรา สกุลสอน จำนวนผู้เข้าชม 1205 คน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการพัฒนาพันธุ์พืชของมทร.ล้านนา ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จ.เชียงราย
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร การดำเนินงานโครงการพัฒนาพันธุ์พืชของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ในการนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา มทร.ล้านนา เฝ้ารับเสด็จและถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพันธุ์พืช ประจำปี 2558 ณ ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 ในปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณและมีพระราชาอนุมัติให้ดำเนินงาน จำนวน 4 กิจกรรม บนพื้นที่จำนวน 17 ไร่ ในกลุ่มพืชไร่ พืชผัก ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชผักอาทิ มะเขือเทศ พริก แตงกวา ถั่วฝักยาวไร้ค้างและฟักทอง ที่เหมาะสมในเขตภาคเหนือตอนบน โดยทำการรวบรวมพันธุ์และปลูกรักษาพันธุ์ที่พัฒนาขึ้นมาแล้ว และทำการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชอย่างต่อเนื่องและรวบรวมข้อมูลลักษณะประจำพันธุ์พืชที่พัฒนาดีแล้ว เพื่อขึ้นทะเบียนพันธุ์
กิจกรรมที่ 2 การทดสอบความเสถียรของฟักทองพันธุ์พื้นเมืองผลใหญ่และเล็ก ประจำปี 2558 เก็บข้อมูลละเอียดเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีขึ้นทะเบียน และเปรียบเทียบการเจริญเติบโตการให้ผลผลิตสดของฟักทองพื้นเมืองผลใหญ่และผลเล็ก กับพันธุ์การค้า ๑ สายพันธุ์ และทดสอบความเสถียรของพันธุ์ ฟักทองฟักทองพันธุ์พื้นเมืองผลใหญ่และเล็ก ที่มี 3 ลักษณะได้แก่ ลายข้าวตอก ผิวเรียบและคางคก เก็บข้อมูลละเอียดเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ดีขึ้นทะเบียนฟักทองผลเล็ก พบว่า พันธุ์ลายข้าวตอกมีความต้านทานโรคราน้ำค้างและไวรัสโรคใบด่างได้ดี ฟักทองผลใหญ่ พบว่า พันธุ์ลูกใหญ่ 1 มีความต้านทานโรคราน้ำค้างและไวรัสโรคใบด่างได้ดี
กิจกรรมที่ 3 การผลิตเมล็ดผักพันธุ์พัฒนา 10 ชนิดได้แก่ มะเขือเปราะเจ้าพระยา พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกหนุ่ม ถั่วฝักยาว แตงกวา บวบเหลี่ยม ฟักทอง ข้าวโพดเทียนหวาน ฝักกวางตุ้ง และ ถั่วพุ่ม
กิจกรรมที่ 4 การบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในดำเนินการกำจัดศัตรูพืช และการบริหารจัดการควบคุมศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ซึ่งเป็นโครงการ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดำเนินการจัด ตั้ง “ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ”ขึ้น เพื่อเป็นที่ระลึก ในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ด้วยทรงเป็นกำลังสำคัญ ในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรของประเทศไทย ทรงวางรากฐานเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน และทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของเมล็ดพันธุ์
สำหรับสถานที่ดังกล่าว จัดตั้งขึ้นในบริเวณส่วนหนึ่งของที่ดินราชพัสดุ พื้นที่ 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา ในตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์พืช ให้เกษตรกรได้มีพืชที่มีสายพันธุ์ที่ดี ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรด้านพันธุ์พืช ทนทานต่อโรคและแมลง ได้ผลผลิตที่ดีและผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทาน แก่ราษฎรทั่วไป และราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมี พระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552
ในระยะแรก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมด้านพืชกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ปลูกพืชเพื่อทดลองนำร่อง3 กลุ่มพืช รวมพื้นที่ 36 ไร่ ดังนี้กลุ่มพืชไร่ จำนวน 20 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 6 ชนิด จำนวน 35 สายพันธุ์ กลุ่มพืชตระกูลแตง จำนวน 8 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 9 ชนิด จำนวน 72 สายพันธุ์ กลุ่มพืชผัก (ผักสวนครัว ผักพื้นบ้าน สมุนไพร) จำนวน 8 ไร่ แบ่งพืชออกเป็น 55 ชนิด จำนวน 61 สายพันธุ์ โดยมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกันรวบรวมพันธุ์พืชอาหารพื้นบ้าน เพื่อที่จะคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเผยแพร่แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีพอสมควร มีความต้านทานโรคดีพอสมควร ให้ผลผลิตดีพอสมควร เพื่อให้เกษตรกรนำพันธุ์ไปขยาย หรือปลูกเองได้ในอนาคตซึ่งมีแผนการดำเนินงาน ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มีแผนงานที่จะพัฒนาพันธุ์พืชอาหารที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกษตรกรมีพันธุ์พืชที่ดี แม้ไม่ใช่พันธุ์ที่ดีที่สุดในเชิงเศรษฐกิจ แต่จะเป็นพันธุ์ที่ดีพอ สามารถสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพให้แก่ครัวเรือน สร้างความแข็งแรงมั่นคงให้เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัว ได้อย่างยั่งยืน
ขอบคุณภาพ/ข่าว โดยกองประชาสัมพันธ์ มทร.ล้านนา
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา