โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลำปาง  พร้อมยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ลำปาง พร้อมยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 24 พฤษภาคม 2567 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 226 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

        อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง รับการสนับสนุนทุนการวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 จากแหล่งทุนสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมดำเนินโครงการยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น ตำบลบ้านขอ อำเภอมืองปาน จังหวัดลำปาง เพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ให้พึ่งพาตนเองได้ พร้อมกระจายรายได้สู่ชุมชน
        อาจารย์ณัฐนรี  ทองดีพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัย ฯ เปิดเผยว่า โครงการยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เป็นหนึ่งในพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ด้านงานวิจัยและบริการวิชาการ และเป็นงานวิจัยที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของจังหวัดลำปางประเด็นการพัฒนาจังหวัดลำปางแผนงานพัฒนาการผลิตตามระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมแปรรูปมูลค่าสูง โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่นภายใต้การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา นวัตกรรม เทคโนโลยีการพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ และยกระดับความสามารถของเกษตรกรและชุมชนในการพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น นำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน โดยในการดำเนินงานมีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารจัดการวัตถุดิบแบบมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน และศึกษากระบวนการทางการตลาดของผลิตภัณฑ์น้ำพริกตาแดงของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำ โดยมีผู้ร่วมวิจัยวิชาการประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วันไชย คำเสน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรพนธ์ ทาแกง  อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ ธาตุรักษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปัญจพร ศรีชนาพันธ์  และอาจารย์พรรณษา เรือนน้อย อาจารย์คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์
       สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำ ตำบลบ้านขอ อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางเกิดจากการรวมกลุ่ม เพื่อร่วมกันพัฒนาการประกอบอาชีพ เป็นกลุ่มที่มีองค์ความรู้ ทักษะในการผลิต ปัจจุบัน มีการผลิตน้ำพริกลาบเป็นหลัก พบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูง ต่อมามีการผลิตน้ำพริกตาแดง พบปัญหาด้านต้นทุน การเก็บรักษา และการจัดจำหน่าย โดยดำเนินการร่วมกันระหว่างทางคณะนักวิจัยวิชาการ (มหาวิทยาลัย) และนักวิจัยชุมชน (กลุ่มวิสาหกิจ) เพื่อยกระดับศักยภาพกลุ่มวิสาหกิจชุมชนน้ำพริกฆ้องคำด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่นต่อไป หัวหน้าโครงการกล่าวในตอนท้าย
      ข่าว : จารุวรรณ  สุยะ
      ที่มาของข่าว : งานวิจัยและบริการวิชาการ มทร.ล้านนา ลำปาง






ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา