เผยแพร่เมื่อ : พุธ 13 มีนาคม 2567 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 1661 คน
วันที่ 13 มีนาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์กับนางสาวภัคธภา ฉัตรโกเมศ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท ฟอร์ทิเนท ซีเคียวริตี้ เน็ตเวิร์ค (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรด้าน Cyber Security ให้สามารถปกป้องข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับการพัฒนาทักษะทางไซเบอร์ของนักศึกษา ให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดแรงงานด้านการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ และเป็นแนวทางในการจัดตั้งศูนย์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับภูมิภาค โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสิษฐ์ วิมลธนสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายแผนนโยบาย และยุทธศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ วงษ์พานิช รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ลือโขง ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และนางปวีณา ทองปรอน หัวหน้าสำนักงานสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมด้วยบุคลากรเข้าร่วมเป็นสักขีพยานการลงนาม ณ ห้องประชุมกาสะลอง อาคารสำนักงานอธิการบดี มทร.ล้านนา
สำหรับเหตุผลและความเป็นมาของการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นมา โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ ในปัจจุบันการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคมหรือการให้บริการ โดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที สมควรกำหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานของรัฐและ หน่วยงานเอกชน ที่จะต้องมีการป้องกันและรับมือความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไชเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่างๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานในการดำเนินการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรงตลอดจนกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
โดย Cyber Security (คุณพลากร ลาภอลงกรณ์, 2566) หรือ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ คือ การนำเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยี และกระบวนการที่รวมถึง วิธีการปฏิบัติที่ถูกออกแบบไว้เพื่อป้องกัน และรับมือที่อาจจะถูกโจมตีเข้ามายังอุปกรณ์เครือข่าย, โครงสร้างพื้นฐานทางสารสนเทศ,ระบบหรือโปรแกรม ที่อาจจะเกิดความเสียหายจากการที่ถูกเข้าถึงจากบุคคลที่สามโดยไม่ได้รับอนุญาตในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนได้เริ่มให้ความสำคัญในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป้าหมายในการโจมตีมีความหลากหลาย รวมถึงรูปแบบของการโจมตีทางด้านไซเบอร์ก็มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเช่นกัน และมีการสร้างความเสียหายให้กับองค์กรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
จากเหตุผลและความเป็นมาดังกล่าวจึงทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะทำงานภายใต้สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาบุคลากรทางด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อให้สามารถปกป้องข้อมูลดิจิทัลของมหาวิทยาลัยครอบคลุม มทร.ล้านนา ทั้ง 6 พื้นที่ และสามารถพัฒนาทักษะทางด้านไซเบอร์ของนักศึกษาให้เป็นผู้นำในตลาดแรงงานทางด้านการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนเป็นช่องทางในการจัดตั้งเป็นศูนย์รักษาความปลอดภัยไซเบอร์ในระดับภูมิภาค สำหรับการจัดหารายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัยในอนาคตต่อไป
คลังรูปภาพ : MOU ภาคเอกชนด้าน Cyber Security
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา