โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลำปาง เปิดห้องเรียนบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง รุ่นที่ 2  พัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรสมัยใหม่ | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ลำปาง เปิดห้องเรียนบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง รุ่นที่ 2 พัฒนาบุคลากรด้านการเกษตรสมัยใหม่

เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 8 สิงหาคม 2566 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 432 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

        เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา ลำปาง) จัดกิจกรรมปฐมนิเทศโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง รุ่นที่ 2 ณ ห้องนวัตกรรม ชั้น 6 อาคารวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา พร้อมเปิดห้องเรียนวันแรก โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรัญญา ธาราเวชรักษ์ รองคณบดีฝ่ายบริหารและแผนยุทธศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา เป็นประธานในพิธีเปิด และรับฟังคำกล่าวรายงานจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์กุลวิชญ์ พานิชกุล หัวหน้าหลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง  มทร.ล้านนา ลำปาง เพื่อพัฒนาและส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่ โดยมีผู้เรียน 30 คน
       ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรัญญา ธาราเวชรักษ์ กล่าวว่า โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง เป็นหลักสูตรที่ดำเนินการภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จัดการเรียนการสอนโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา ลำปาง มุ่งเน้นการจัดการศึกษาบนฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพหลัก อาชีพเสริม รวมทั้งเป็นวิชาชีพที่เรียนรู้เพื่อเป็นทางเลือกอาชีพหลังจากเกษียณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
        ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์กุลวิชญ์ พานิชกุล หัวหน้าหลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง  กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักสูตรเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูง เปิดทำการเรียนการสอนเป็นรุ่นที่ 2 ของโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ภายใต้การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบการผลิตบัณฑิตในสถาบันอุดมศึกษาโดยใช้ชุมชนเป็นฐานเพื่อก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องเป็นทั้งเกษตรกร และผู้ประกอบการ ด้วยการเพิ่มมูลค่าจากความรู้ทางด้านเกษตรอาหาร และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดและสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลง หลักสูตรนี้จึงเป็นการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะด้านเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูงเพื่อสามารถนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพ โดยมีระยะเวลาในการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน 2566 จัดการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง 
      ที่มาของภาพ / ข่าว : คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร สืบค้นได้จาก https://www.facebook.com/Sat.rmutl/อาจารย์ณัฐอมร จวงเจิม
      เรียบเรียง : จารุวรรณ  สุยะ







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา