โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลำปาง จับมือเทศบาลเมืองพิชัยและชุมชนม่อนเขาแก้ว รับโล่ห์เกียรติคุณโครงการชุมชนปลอดขยะ 2566 | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ลำปาง จับมือเทศบาลเมืองพิชัยและชุมชนม่อนเขาแก้ว รับโล่ห์เกียรติคุณโครงการชุมชนปลอดขยะ 2566

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 15 มิถุนายน 2566 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 1052 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

         เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566  ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร สุรินทร์และอาจารย์ณัฐอมร จวงเจิม ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปางร่วมกับเทศบาลเมืองพิชัยและชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว หมู่ที่ 3  ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เข้าร่วมพิธีการรับมอบโล่เกียรติคุณโครงการชุมชนปลอดขยะ 2566 (Zero waste) จากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมีนายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นผู้มอบ
        ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงศกร สุรินทร์ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการขยะชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว เทศบาลเมืองพิชัย ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของรางวัลเกียรติยศนี้ เกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกับเทศบาลเมืงอพิชัยและชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว เมื่อปีพ.ศ. 2565 โดยมี ผศ.พงศกร สุรินทร์ เป็นหัวหน้าโครงการ และมี อ.ณัฐอมร จวงเจิม, อ.นิตยา  เอกบาง, อ.พรพิมล อริยะวงษ์และอ.อนาวิล  ทิพย์บุญราช เป็นผู้ร่วมโครงการ  ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้มีการใช้กระบวนการแบบ CBR โดยเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด พิจารณาและลงมือทำจนเกิดนักวิจัยชุมชนในการบริหารจัดการขยะของชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว หมู่ที่ 3 ตำบลพิชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง  โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานภาคเอกชน  ได้แก่ เทศบาลเมืองพิชัยและร้านบังอรรีไซต์เคิล ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันจนประสบความสำเร็จ
       ปัจจุบันการบริหารจัดการขยะชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว ได้พัฒนาอย่างเป็นระบบโดยมีชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ยังเกิดนวัตกรรมจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเครื่องปั้นดินเผาระหว่างการดำเนินงานวิจัย เป็นการคิดค้นที่จัดเก็บขยะอินทรีย์ โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นการปั้นหม้อของชุมชน ซึ่งมีการคิด วิเคราะห์และทดลองจนสำเร็จ และใช้ชื่อนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า  “หม้อดินกินน้ำแกง” เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง ร่วมกับคนในชุมชนบ้านม่อนเขาแก้ว อีกทั้งการบริหารจัดการขยะนี้ยังทำให้ชุมชนเกิดรายได้ ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันของคนในชุมชน โดยมีงบประมาณจากการบริหารจัดการขยะหลายหมื่นบาท นอกเหนือไปจากนั้นคือ คนที่มาร่วมกลุ่มในการบริหารขยะชุมชนส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้เกิดความภูมิใจและเห็นคุณค่าในตนเอง สำหรับกลุ่มนักวิจัยของมหาวิทยาลัยฯ มีความรู้สึกภูมิใจ ที่สามารถนำงานวิจัยไปรับใช้ท้องถิ่นและสังคมให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป หัวหน้าโครงการกล่าวในตอนท้าย
       การรับโล่เกียรติคุณในครั้งนี้ เป็นการผ่านรอบที่ 1 ระดับประเทศ ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท และในวันที่ 5 กรกฎาคม 2566 จะมีการตรวจเยี่ยมจากคณะกรรมการจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อคัดเลือกในรอบสุดท้าย
       ข่าว : อ.นิตยา  เอกบาง
       ภาพ : อ.ณัฐอมร จวงเจิม
       เรียบเรียง : จารุวรรณ  สุยะ







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา