เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 7 พฤศจิกายน 2565 โดย Natthida Wongpaeng จำนวนผู้เข้าชม 2656 คน
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 มทร.ล้านนา นำโดยผศ.ว่าที่ร้อยโทสุรพิน พรมแดน หัวหน้ากลุ่มงานยุทธศาสตร์ SPU พร้อมคณะ ได้ติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการเคลื่อนย้ายบุคลากรเพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม ผ่านกลไก Pre-Talent Mobility ประจำปีงบประมาณ 2565
1.โครงการ "การพัฒนาแนวทางการผลิตภัณฑ์สารสกัดกาแฟจากเมล็ดกาแฟเพื่อใช้เป็นสารประกอบเชิงหน้าที่ (functional ingredient)" โดย นางสาววสิษฐา ราชคม หัวหน้าโครงการ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชน ผู้ปลูกชา-กาแฟ คุณภาพบ้านป๊อก ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
2.โครงการ "การพัฒนาข้าวโพดฝักอ่อนสู่ผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูงในรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพ" โดย นางสาวอัจฉรา ไชยยา หัวหน้าโครงการ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยบง ต.ทาเหนือ อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่
ภายใต้โครงการนี้นางสาววสิษฐา ราชคม และนางสาวอัจฉรา ไชยยา ได้กล่าวรายงานความก้าวหน้าของโครงการให้ทราบ โดยมี นายไพบูลย์ พรหมเป็ง ประธานวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับ นางเกษร อักษรรัตน์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานตลาดเกษตรกร ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน และให้โจทย์ความต้องการของวิสาหกิจชุมชนเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดงานวิจัย และแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนที่ได้จำหน่ายผลผลิตในรูปแบบของเมล็ดกาแฟคั่วเป็นหลักและมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของกาแฟพร้อมดื่มสำเร็จรูปโดยทางกลุ่มวิสาหกิจต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น และมีคุณค่าเพิ่ม เช่นผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปเครื่องสำอางเวชสำอางที่มีสารสกัดกาแฟเป็นส่วนประกอบ โดยนางสาววสิษฐา ราชคม หัวหน้าโครงการ มีส่วนร่วมเข้ามาประเมินจุดอ่อนจุดแข็งของกลุ่มวิสาหกิจผู้ปลูกกาแฟบ้านแม่ป๊อกในการพัฒนาต้นแบบสารสกัดจากเมล็ดกาแฟ เพื่อวางแผนการพัฒนาต้นแบบสารสกัดจากเมล็ดกาแฟที่สภาวะเหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบสารสกัดเมล็ดกาแฟโดยใช้คลื่นเสียงอัลตร้าโซนิคความถี่ 40 kHz เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชนต่อไป
ทั้งนี้นางสาวอัจฉรา ไชยยาได้ร่วมรายงานความก้าวหน้าของโครงการด้วย โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์บ้านห้วยบงเป็นกลุ่มเกษตรผู้ปลูกข้าวโพดฝักอ่อนซึ่งเป็นผลผลิตที่ได้เป็นจำนวนมาก และเนื่องจากผลผลิตข้าวโพดที่ได้จากชุมชนมีปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงปัญหาสภาวะเศรษฐกิจและสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ทำให้นักวิจัยเล็งเห็นปัญหาและเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อยอดคุณค่าของวัตถุดิบโดยผู้วิจัยมีแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าไปประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากข้าวโพดอ่อนจากนั้น จึงทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวโพดอ่อนพร้อมบริโภคที่ผ่านการปรับสภาพ ที่สภาวะต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคโดยจัดทำการทดลองเพื่อประเมินจุดแข็งให้กับชุมชนโดยศึกษาสภาวะที่เหมาะสมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบอาหารเพื่อสุขภาพจากข้าวโพดอ่อนโดยใช้การทำแห้งแบบเยือกแข็ง (Freeze Dry) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา