เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 17 กุมภาพันธ์ 2565 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 947 คน
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรม “วันถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลี ครั้งที่ 3” เพื่อประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ผลงานของโครงการวิจัย “การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน” และเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การแปรรูปธัญพืชเมืองหนาว สู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การสร้างธุรกิจใหม่ตาม BCG model ณ ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และมีรองศาสตราจารย์ ดร. อุเทน คำน่าน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวรายงาน
ดร. สุรพล ใจวงศ์ษา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า การพัฒนาการผลิตธัญพืชเมืองหนาวเป็นพืชหลังนาเพื่อการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรภาคเหนือตอนบน เป็นโครงการวิจัยที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ การจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยี ปอยข้าวสาลี เป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการวิจัยสู่โมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ซึ่งข้าวสาลี ธัญพืชเมืองหนาว มีบทบาทต่อคนในสังคมไทยในปัจจุบันมาก เพราะใช้เวลาในการปรุงน้อย แต่ให้คุณค่าทางอาหารสูง อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้นของข้าวสาลีไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปเป็นน้ำคั้นจากต้นอ่อน แปรรูปเป็นขนมปัง หรือแม้กระทั่งนำช่อข้าวสาลีมาทำช่อดอกไม้สีธรรมชาติ (ทีมวิจัย Lanna Chrome) รวมไปถึงการใช้ลำต้นข้าวสาลีมาทำหลอดดูดหรือบดฟางทำอาหารสัตว์ จึงทำให้ข้าวสาลีเป็นที่นิยมทางด้านการตลาดของประเทศไทยเป็นอย่างมาก
สำหรับกิจกรรมภายในงานในปีนี้ประกอบด้วย การจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยและพัฒนาข้าวสาลีและธัญพืชเมืองหนาวเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยี เช่น นิทรรศการด้านเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมสำหรับการปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน นิทรรศการด้านการแปรรูปและผลิตภัณฑ์ นิทรรศการด้านเมล็ดพันธุ์และวิทยาการเมล็ดพันธุ์ เป็นต้น กิจกรรม กาดมั่ว คัวฮอม กิจกรรมสาธิต แสดง ชิมจำหน่ายข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธัญพืชเมืองหนาว การจัดทำคู่มือการผลิตธัญพืชเมืองหนาวที่เหมาะสมสำหรับภาคเหนือตอนบน และการจัดทำคู่มือการผลิตและแปรรูปน้ำคั้นต้นอ่อนข้าวสาลี (wheatgrass) นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสมและเกษตรกรนาแปลงใหญ่ให้เห็นถึงความพร้อมในการรองรับของตลาดข้าวสาลีไทยในอนาคตที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยมีหน่วยงานและภาคีเครือข่ายในการร่วมกันขับเคลื่อน พัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพดี และสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวในตอนท้าย
ข่าว / ภาพ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์กนกวรรณ เวชกามา
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา