โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ร่วมพิธี ลงนามความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ พร้อมเปิดตัวชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565” | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ร่วมพิธี ลงนามความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ พร้อมเปิดตัวชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565”

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 17 พฤศจิกายน 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5816 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

           วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564  ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. มาลี ตั้งระเบียบ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเทคโนโลยีเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ พร้อมเปิดตัวชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565” โดยมีดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และนายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลง “โครงการความร่วมมือในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์” ระหว่างมูลนิธิชัยพัฒนา และ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ณ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา กรุงเทพมหานคร

         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุมัติให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา โดยศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ ร่วมกับ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ซึ่งมีผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักในนาม “เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง” ร่วมดำเนินงานในการผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช มีวัตถุประสงค์ร่วมมือในการผลิต และขยายเมล็ดพันธุ์เพื่อจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไปยังเกษตรกรและประชาชนทั่วไป เพื่อสนองพระราชดำริในอันที่จะให้เกษตรกร และประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ได้ในราคาย่อมเยา เหมาะสม ทั่วถึงและเพียงพอ สนองต่อเป้าหมายสำคัญของมูลนิธิชัยพัฒนา มุ่งสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนให้มีความร่มเย็นเป็นสุข และอยู่ดีกินดี อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศคือ ชัยชนะแห่งการพัฒนา

           เมล็ดพันธุ์ที่จะดำเนินการผลิตนี้ เป็นเมล็ดพันธุ์ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามให้และให้มูลนิธิชัยพัฒนาดำเนินการขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชโดยเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและมหาวิทยาลัยแม่โจ้ร่วมกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ  มูลนิธิชัยพัฒนาเพื่อให้ทรงนำไปพระราชทานแก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกแต่ด้วยความต้องการเมล็ดพันธุ์ที่มากขึ้นทำให้ไม่สามารถกระจายเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวสู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง

          มูลนิธิชัยพัฒนาและบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้ตกลงร่วมมือกันในการผลิตเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล็งเห็นว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญในด้านนวัตกรรมเมล็ดพันธุ์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การคัดคุณภาพเมล็ดพันธุ์ ไปจนถึงบรรจุภัณฑ์และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการตลาดเมล็ดพันธุ์เป็นอย่างดีทุกขั้นตอนเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด อีกทั้งยังเป็นบริษัทเอกชนรายแรกที่มีห้องปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน ISTA และ ISO9001:2015 จึงพระราชทานเมล็ดพันธุ์ตั้งต้นให้แก่บริษัทเพื่อผลิต ขยายพันธุ์และจำหน่าย โดยรักษาคุณภาพ มาตรฐานเมล็ดพันธุ์และต้องไม่ปรับเปลี่ยนพันธุกรรมของสายพันธุ์

สำหรับเมล็ดพันธุ์พระราชทานที่จะดำเนินการผลิตและจำหน่ายมีจำนวน 16 ชนิด ซึ่งเป็นการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จำนวน 6 ชนิด ประกอบด้วย มะเขือเทศจักรพันธ์ 1 มะเขือเทศจักรพันธ์ 2 ถั่วฝักยาวล้านนาชวนอร่อย ฟักทองประกายดาวล้านนา กวางตุ้งเหลืองล้านนา และมะเขือเปราะเพชรล้านนาและการปรับปรุงพันธุ์โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 10 ชนิด

ทั้งนี้เมล็ดพันธุ์ทั้ง 16 ชนิด จะบรรจุอยู่ในซองที่ใช้ชื่อว่า “ซองฉลาดจันกะผัก” เพื่อให้เมล็ดพันธุ์คงไว้ซึ่งคุณภาพพร้อมด้วยคู่มือรายละเอียดตั้งแต่วิธีการปลูก การเก็บเกี่ยว การปรับปรุงดิน การใส่ปุ๋ย ราคาจำหน่ายซองละ 25-30 บาท และสำหรับในปี 2565 เป็นปีนักษัตรขาล จัดชุดปลูกผัก “จันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565 ” จำหน่ายเป็นของขวัญ ส่งความรักความปรารถนาดีในช่วงขึ้นปีใหม่ โดยในชุดจะประกอบด้วยเมล็ดพันธุ์ผักพร้อมกระถางและอุปกรณ์การปลูก ที่ผู้รับสามารถนำไปปลูกได้ทันที จุดประสงค์คือ ต้องการให้ทุกคนสามารถปลูกผักได้เองด้วยวิธีง่ายๆ มีผักสดใหม่ปลอดภัยจากสารพิษไว้บริโภคภายในครัวเรือน จำหน่ายในราคาชุดละ 499 บาท

ชุดปลูกผักจันกะผัก ส่งรักปีเสือ 2565 สามารถหาซื้อได้ที่ ร้านภัทรพัฒน์ทุกสาขา ร้านภูฟ้า Lazada : Sorndaengseed Flagship store ทั้งนี้รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบสมทบมูลนิธิชัยพัฒนา








ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon