เผยแพร่เมื่อ : พุธ 29 กันยายน 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5536 คน
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดย ดร.กิจจา ไชยทนุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมพิธีและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) "การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง" และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ในการสนับสนุนส่งเสริมและใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบรางในด้านต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting
โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยคุณชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และคุณกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนร่วมงานดังกล่าวโดยมีขอบเขตความร่วมมือ คือการร่วมกันพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอนและการฝึกอบรมด้านระบบรางระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษาทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา รวมทั้ง ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ และการจัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางรางและมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ อีกทั้งยัง สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า โดยการใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569)
คลิกชมวีดิทัศน์ ลงนามความร่วมมือ กรมการขนส่งทางราง https://www.youtube.com/watch
คลังรูปภาพ : 29-09-64
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา