โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จับมือกรมการแพทย์แผนไทยฯ และวิสาหกิจชุมชนทุ่งแพมแม่สะเรียง ปลูกและวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ต่อยอดสู่การแปรรูปให้เป็นยา 16 ตำรับเพื่อประชาชนไทย | มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา จับมือกรมการแพทย์แผนไทยฯ และวิสาหกิจชุมชนทุ่งแพมแม่สะเรียง ปลูกและวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ต่อยอดสู่การแปรรูปให้เป็นยา 16 ตำรับเพื่อประชาชนไทย

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 9 มกราคม 2563 โดย วิทยา กวีวิทยาภรณ์ จำนวนผู้เข้าชม 6955 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

      วันที่ 9 มกราคม 2563 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกบุกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม “จัดพิธีปลูกกัญชาต้นแรก” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนากัญชาทางการแพทย์ บ้านทุ่งแพม ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเป็นการเริ่มต้นการบวนการผลิตกัญชาทางการแพทย์อย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ของการปลูกกัญชาให้แก่ผู้สนใจได้รับทราบ  โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอก นายแพทย์ภูรีวรรธน์ โชคเกิด สาธารสุขนิเทศก์ เขต 1 ผู้แทนนายอนุทิน ชาญวรีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานการปลูกกัญชาต้นแรก และมีนายธนกฤติ  ฉันทะจำรัสศิลป์ นายอำเภอแม่สะเรียงเป็นผู้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน จากนั้น ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์การจัดงานต่อประธานในพิธี  และการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจาก พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร สมาชิกวุฒิสภา ได้ขึ้นกล่าวแสดงความยินดีและให้แนวทางการดำเนินการปลูกกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหาร บุคลากร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ฝ่ายความมั่นคง ผู้แทนจากบริษัทไทยคอนยัค จำกัด และประชาชนทั่วไทยเข้าร่วมเป็นนำนวนมาก และในโอกาสเดียวกันนี้ ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา ได้มอบแจกันที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติให้กับผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมงานอีกด้วย

     ซึ่ง“พิธีปลูกกัญชาต้นแรก” เป็นการดำเนินกิจกรรมสืบเนื่องจากการทำความร่วมมือระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สมาคมศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกบุกและแปรรูปบุก เกษตรอินทรีย์บ้านทุ่งแพม ในการร่วมกันวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์กัญชา และ กัญชงเพื่อใช้ทางการแพทย์ และจัดส่งผลผลิตให้กับกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกในการปรุงเป็นยาไทย 16 ตำรับ แจกจ่ายให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลในเครือข่ายทั่วประเทศ  และเป็นแห่งแรกของไทยที่มีดำเนินการและบริหารจัดการร่วมกับวิสาหกิจชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ  โดยทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้มอบหมายให้ ดร.สุรพล ในวงษ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ลงนามความร่วมมือกับ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา  และได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา ให้สามารถปลูกกัญชาในพื้นที่จำเพาะในโรงเรือนเนื้อที่ 1,000  ตารางเมตร มีการบริหารจัดการแบบเกษตรอินทรีย์ Smart Organic Farming ดำเนินการปลูกกัญชารุ่นแรกจำนวน 320  ต้น และจะดำเนินการปลูกให้เต็มพื้นที่จำนวน 20,000 ต้นในอนาคต  สำหรับสายพันธุ์กัญชาที่มหาวิทยาลัยฯมีในครอบครองได้มีการรวบรวมสายพันธุ์กัญชาพื้นบ้านจากภูมิภาคต่างๆ ผ่านกระบวนการนิรโทษกรรม เพื่อครอบคลองจำนวน 11 สายพันธุ์ และคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพสูง จำนวน 4 สายพันธุ์ มาปลูก ณ ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ประกอบด้วย กัญชาสายพันธุ์เพชรบุรี  ตะนาวศรี หางกระรอกด้ายแดง หางกระรอกอีสาน

    ดร.สุรพล ใจวงศ์ษา เปิดเผยว่า  “พิธีปลูกกัญชาต้นแรกนี้ เป็นภาพสะท้อนความร่วมมือของมหาวิทยาลัยฯ กระทรวงสาธารณสุข สมาคมศิษย์เก่า มทร.ล้านนา และวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม ในการที่จะพัฒนาสายพันธุ์กัญชาที่มีประสิทธิภาพสูงในการนำไปใช้ปรุงยาไทย 16 ตำรับเพื่อสุขภาพและพลานามัยที่ดีของประชาชนชาวไทย โดยวันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้เชิญผู้ทรงเกียรติจากหลายภาคส่วนให้ได้รับรู้ รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นในวันนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และยังได้วางแผนร่วมกันไว้ว่าจะมีการนำวิสาหกิจชุมชนอื่นๆ ที่มีความพร้อมมาผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยฯ โดยมีศูนย์วิจัยพัฒนากัญชาทางการแพทย์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งแพมเป็นต้นแบบ  สำหรับมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของคณะกรรมการอาหารและยาอย่างเคร่งครัด พื้นที่ทั้งหมดมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง ผู้ที่เข้า-ออก จะต้องได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนการลำเลียงขนส่งจะต้องแจ้งไปยังจังหวัดและตำรวจทางหลวงทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการรักษาความปลอดภัยของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มั่นใจว่าจะไม่มีกัญชาผิดกฏหมายหลุดลอดออกไปได้อย่างแน่นอน”

     สำหรับยาไทย 16 ตำรับที่มีกัญชาไปเป็นส่วนผสมในการปรุงยามีดังนี้

1.ยาศุขไสยาศน์ ช่วยให้นอนหลับเจริญอาหาร ฟื้นฟูกำลังของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
2.ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ ช่วยลดอาการแทรกซ้อนในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งมดลูก มะเร็งตับในระยะเริ่มต้น และช่วยแก้กษัยเหล็ก หรืออาการท้องแข็งเป็นดานซึ่งส่วนหน่งก็คือโรคมะเร็ง
3. ยาทำลายพระสุเมรุ บรรเทาอาการเกร็งกล้ามเนื้อ แขนขาอ่อนแรง ชา ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โดยในตำราจริงๆ จะเขียนว่าแก้ลมชัก ปากเบี้ยว ตาแหก ซึ่งทั้ง 3 อาการเป็นอาการรวมของอัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นเลือดในสมองแตก
4.ยาทัพยาธิคุณ ลดอาการมือชาเท้าชาในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และใช้รักษาอาการมือเท้าบวมในผู้ป่วยมะเร็งตับ
5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง แก้ลมขึ้นเบื้องสูง
6.ยาแก้นอนไม่หลับหรือยาแก้ไข้ผอมเหลือง แก้ไข้ผอมเหลือง ตัวสั่น เสียงสั่น ไม่มีกำลัง อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ
7.ยาไพสาลี บำบัดโรคลม (แก้สารพัดโรค กล่อน หืดไอ จุกเสียด ลมสลักอก ลมมักให้หาวเรอ ให้รากสะอึก ลมสะแกเวียน นอนไม่หลับ ลมปวดมวนในท้อง เป็นป้างเป็นจุกผามม้ามย้อย)

8.ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง หารักษาหัวริดสีดวงทวารหนัก รักษาโรคผิวหนัง
9.ยาแก้ลมแก้เส้น บรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อตามร่างกาย ลดอาการชาบริเวณมือและเท้า มือเท้าอ่อนกำลัง
10.ยาอไภยสาลี บำบัดโรคทางลม (ลม 80 จำพวก แก้โลหิต 20 จำพวก แก้ริดสีดวง 20 จำพวก)
11.ยาอัมฤตโอสถ บรรเทาอาการกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นรัดรึง มือเท้าชา ผอมแห้งแรงน้อย อันเนื่องมาจากความเสื่อมความผิดปกติของร่างกาย
12.ยาแก้โรคจิต ลดความกังวลในจิตใจ และความเครียดในระบบประสาท ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
13.ยาแก้สัณฑฆาต กล่อนแห้ง บรรเทาอาการท้องผูกเป็นพรรดึก อาการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย มือชาเท้าชา ปัสสาวะเป็นเลือด ปวดศีรษะ หน้ามืดวิงเวียน จุกเสียดท้องแน่นหน้าอก อันเกิดจากโทสันฑฆาตและกล่อนแห้ง
14.ยาอัคคินีวคณะ แก้คลื่นเหียนอาเจียน 4 ประการ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุทั้ง 4 ชูกำลัง
15.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย แก้อาการทางลม คลายอาการที่ทำให้เจ็บปวดตึงบริเวณปลายมือปลายเท้าแล้วอาการลามขึ้นมาบริเวณต้นคอให้คอแข็ง ทำให้เคลื่อนไหวคอไม่ได้
และ16.ยาไฟอาวุธ แก้ลมจุกเสียด แก้ป้างแก้ม้าม แก้ดานเสมหะให้ปวดมวนท้อง แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แก้ไอผอมเหลือง

ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา โทร.053-921444 # 1011 หรือ กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โทร.053-921444 # 0







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

Facebook Messenger icon