เผยแพร่เมื่อ : อังคาร 17 กันยายน 2562 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 2765 คน
16 กันยายน 2562 กลุ่มวิชาสังคมศาสตร์ หมวดวิชาศึกษาทั่วไป สาขาศิลปศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง จัดโครงการจิตอาสา พัฒนาวัด ณ วัดปงอ้อม หมู่ 4 ตำบล บ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อให้นักศึกษาได้ดำเนินกิจกรรมจิตอาสา
อาจารย์พรพิมล อริยะวงษ์ อาจารย์ผู้สอนวิชาศิลปะการใช้ชีวิต กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอนรายวิชาศิลปะการใช้ชีวิต (GEBIN103) เพื่อให้นักศึกษาเห็นถึงคุณค่า“จิตอาสา” เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม และกระตุ้นจิตสำนึกที่ดีให้กับนักศึกษา ให้นักศึกษาได้รู้จักการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมรู้จักการให้และการแบ่งปัน ฝึกการทำงานเป็นทีม รวมทั้งเป็นการดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับทางมหาวิทยาลัยโดยมีเป้าหมายในด้านการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน ด้านจิตสาธารณะ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่ง ที่จะต้องให้นักศึกษาเริ่มมีสำนึกจิตอาสาเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำสังคมอย่างมีจิตสำนึกต่อไป
กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมภายใต้หน่วยพัฒนาบุคลิกภาพและอัตลักษณ์เยาวชนไทย ในศตวรรษที่ 21 มีการทำบุญ ถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ และแบ่งกลุ่มนักศึกษาในรายวิชา ทำความสะอาดและพัฒนาวัด โดยได้รับเมตตาจากพระครูวิสุทธิ์ศีลประสิทธิ์ (ประสิทธิ์ สีลสุทฺโธ) เจ้าอาวาสวัดปงอ้อม ให้พรและมอบวัตถุมงคลแก่นักศึกษา ขอขอบคุณอาจารย์ภานุเดช จริยชุตินันท์ ที่เข้าร่วมกิจกรรมและจัดการในส่วนของพิธีสงฆ์ ขอบคุณอาจารย์ต่อศักดิ์ โกษาวัง ที่ประสานงานและดูแลนักศึกษาสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในการซ่อมแซมระบบไฟในห้องเก็บของภายในวัด อาจารย์ผู้สอนฯ กล่าวในตอนท้าย
สำหรับรายวิชาศิลปะการใช้ชีวิต (GEBIN103) เป็นวิชาบังคับเลือก (ในกลุ่มวิชาบูรณาการ) ในหมวดศึกษาทั่วไป มีนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจและศิลปศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ลงทะเบียนเรียนจำนวน 227 คน โดยมีอาจารย์พงษ์เทพ ไพบูลหวังเจริญ สอนด้านจิตวิทยา ดร.ปัทม์ ปราณอมรกิจ สอนด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวัน อาจารย์พรพิมล อริยะวงษ์ สอนด้านบุคลิกภาพและอัตลักษณ์เยาวชนไทย ในศตวรรษที่ 21 และอาจารย์ต่อศักดิ์ โกษาวัง สอนด้านพฤติกรรมทางสังคม โดยการจัดการเรียนการสอนรายวิชาดังกล่าวอาจารย์ผู้สอนได้แบ่งนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม เพื่อเรียนในแต่ละด้าน เป็นเวลา 4 สัปดาห์กับอาจารย์ 1 ท่าน ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาในแต่ละด้านแตกต่างกัน เพื่อให้นักศึกษาได้แสดงออกในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม เกิดการเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยด้านพัฒนาบุคลิกภาพและอัตลักษณ์เยาวชนไทย ในศตวรรษที่ 21 เป็นกิจกรรมในรูปแบบของจิตอาสาที่ดำเนินการโดยนักศึกษาในกลุ่มจำนวน 79 คน
ข่าว / ภาพ : จารุวรรณ สุยะ
ที่มาของข่าว : อาจารย์พรพิมล อริยะวงษ์
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา