โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา ลำปาง จัดโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมฐานข้าวตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง | คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา ลำปาง จัดโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว สานต่อมรดกทางวัฒนธรรมฐานข้าวตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 17 สิงหาคม 2566 โดย จารุวรรณ สุยะ จำนวนผู้เข้าชม 2 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

          16 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง (มทร.ล้านนา ลำปาง) จัดโครงการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวุธ  ชัยเนตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารลำปาง เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมนำคณะผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่และนักศึกษาร่วมกันปลูกข้าวบนพื้นที่ 5 ไร่ ณ แปลงนาสาธิตเศรษฐกิจพอเพียง  มทร.ล้านนา ลำปาง

        การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาและผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ตระหนักในคุณค่ารากฐานเดิมที่คนไทยมีต่อข้าวด้วยการน้อมนำพระราชดำริเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรมาเป็นแนวทางผ่านกิจกรรมการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติด้วยการปลูกข้าวจริง และเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิรินให้เป็นสายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ นับเป็นการเชื่อมโยงและถ่ายทอดเอกลักษณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตลอดจนวิถีชีวิตที่ดีงามของคนไทย อีกทั้งเป็นการบูรณาการการเรียนการสอน ทักษะในกระบวนการผลิตข้าวแก่นักศึกษาและบุคลากร โดยภายหลังการปลูก สาขาวิชาพืชศาสตร์จะดำเนินการดูแลทุกกระบวนการในการผลิตข้าว จนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิตในดือนธันวาคม

        สำหรับข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิริน เป็นข้าวที่ได้รับพระราชทานนามจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เดิมเป็นพันธุ์ กข6 ที่ให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอม แต่ไม่ต้านทานต่อโรคไหม้ ซึ่งเป็นโรคที่สำคัญในนาน้ำฝนภาคอีสาน ต่อมาศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ต้านทานโรคไหม้ โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือกร่วมกับการปรับปรุงพันธ์แบบวิธีมาตรฐาน จนได้ข้าวเหนียวธัญสิรนที่มีคุณภาพใกล้เคียงพันธุ์ กข 6 แต่มีความต้านทานโรคไหม้ ซึ่งเริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2545 ใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี จนได้ข้าวเหนียวพันธ์ธัญสิรินที่มีข้อดีคือ แตกกอได้ดี ลำต้นแข็งแรงไม่ล้อมง่าย มีขนาดสูงเฉลี่ย 130 เซนติเมตร ให้ผลผลิตสูงถึง 1,500-1,600 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่ายด้วยเครื่องจักร ลดปัญหาการหักล้ม คุณภาพการหุงต้มอยู่ในระดับดี  ข้าวเหนียวพันธุ์ธัญสิรินได้มีการพัฒนาออกมา 2 สายพันธ์ คือพันธุ์เตี้ยและพันธุ์ต้นสูง โดยพันธุ์เตี้ยจะเหมาะกับนาที่มีความสมบูรณ์สูงหรือนาลุ่ม ส่วนพันธุ์ต้นสูงมีคุณภาพเหมืองกับพันธุ์เตี้ย แต่พบปัญหาการหักล้ม แต่ดีกว่า กข 6 ธรรมดา เหมาะสำหรับดินที่มีความสมบูรณ์ต่ำหรือนาดอน
         ข่าว  : จารุวรรณ  สุยะ
         ภาพ : จารุวรรณ  สุยะ / ชมรมถ่ายภาพ มทร.ล้านนา ลำปาง
         ภาพกิจกรรม 1
         ภาพกิจกรรม 2







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา