โลโก้เว็บไซต์ มทร.ล้านนา จับมือมรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่าย 20 หน่วยงาน พร้อมเดินหน้า “โมเดลแก้จนลำปาง” ตั้งเป้าขจัดความยากจนนำร่องพื้นที่ 5 อำเภอ   | คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง

มทร.ล้านนา จับมือมรภ.ลำปาง และภาคีเครือข่าย 20 หน่วยงาน พร้อมเดินหน้า “โมเดลแก้จนลำปาง” ตั้งเป้าขจัดความยากจนนำร่องพื้นที่ 5 อำเภอ

เผยแพร่เมื่อ : พุธ 14 มิถุนายน 2566 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 1 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

        วันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พร้อมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ลงนามความร่วมมือร่วมกับ 20 หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน “โมเดลแก้จนลำปาง” สร้างโมเดลความช่วยเหลือการขจัดความยากจน ภายใต้ โครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง และโครงการกระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง  ณ ห้องโอฬารรมย์ อาคารโอฬารโรจน์หิรัญ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

         บันทึกความร่วมมือครั้งนี้เป็นการจัดทำร่วมกันของสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 22 หน่วยงาน เพื่อร่วมมือกันในการขจัดความยากจนและสร้างโอกาสให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดลำปาง รวมถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมในพื้นที่นำร่อง “โมเดลแก้จนลำปาง” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในจังหวัดลำปาง ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) บูรณาการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนให้ครอบคลุมในทุกมิติแบบองค์รวมและสามารถเข้าถึงการพัฒนาตนเอง พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

         โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จะดำเนินโครงการกระบวนการมีส่วนร่วมยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างโอกาสและคุณค่าร่วมทางสังคมของคนจนเป้าหมายพื้นที่วิจัยจังหวัดลำปาง ด้วยการบูรณาการกับโครงการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่วิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อขจัดความยากจนและสร้างโอกาสทางสังคม พื้นที่จังหวัดลำปาง โดยประสานงานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อสอบทาน และสังเคราะห์ปัญหา ศักยภาพครัวเรือนยากจน เป้าหมายในพื้นที่นำร่อง เพื่อนไปสู่การสร้างโมเดลความช่วยเหลือหรือ “โมเดลแก้จนลำปาง” ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสม โดยการบูรณการกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการลดช่องว่างการเข้าถึงโอกาสด้านการพัฒนาอาชีพ การศึกษาเรียนรู้ และนวัตกรรมที่เหมาะสม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนดำเนินการในพื้นที่  5 อำเภอประกอบด้วย อำเภอเถิน อำเภอแจ้ห่ม อำเภอแม่เมาะ อำเภองาวและอำเภอเมืองลำปาง  ซึ่งได้รับงบประมาณอุดหนุนงานวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอ.วช) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

 

ขอบคุณภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา