เผยแพร่เมื่อ : จันทร์ 10 มกราคม 2565 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 10423 คน
จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล ก้าวสู่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พัฒนามาจาก วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษา ระดับปริญญาตรี ผลิตนักศึกษาด้านอาชีพ ระดับต่ำกว่าปริญญา ระดับปริญญาตรี และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาด้านวิชาชีพ และให้บริการวิชาการแก่สังคม มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเป็นสถาบันฯที่ สนองนโยบายกระทรวงศึกษาธิการด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์และบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการพัฒนาสังคมในทุก ๆ ด้าน สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ส่งผลให้มีการรวมการจัดการศึกษาทุกระดับไว้ในกระทรวงศึกษาธิการและให้สถาบันอุดมศึกษาที่สอนในระดับปริญญาไปสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษา ให้มีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในรูปแบบของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ดังนั้นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล จึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘ จากพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่งผลให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตั้งแต่วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ เป็นต้นมา
พระราชทานนามราชมงคล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวราชมงคลเป็นล้นพ้น กล่าวคือ หากย้อนไปเมื่อสมัย ๓๐ ปีก่อน วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา ได้ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๘” โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ มีฐานะเป็นกรมในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี ทำการวิจัยส่งเสริมการศึกษาทางด้านวิชาชีพและให้บริการทางวิชาการแก่สังคม
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๕ รอบและด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเมตตาต่อวิทยาลัยฯ โดยเสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยด้วยพระองค์เองทุกครั้ง ยังความปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ สภาวิทยาลัย ฯ เห็นสมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยฯ ตามหนังสือสำนักราชเลขาธิการ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๑ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนาม “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล” ซึ่งหมายความว่า สถาบันเทคโนโลยีอันเป็นมิ่งมงคลแห่งพระราชา และเปลี่ยนชื่อพระราชบัญญัติวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา พุทธศักราช ๒๕๑๘ เป็นพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล พุทธศักราช ๒๕๑๘ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๓๒ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๓๒ เป็นต้นมา
๙ ราชมงคล
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ได้รับการสถาปนาขึ้นตาม “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ.๒๕๔๘” โดยการรวมวิทยาเขตต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศจัดตั้งขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พระราชบัญญัติฯ นี้ได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๘ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ให้สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีอธิการบดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
ในอดีตที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มีการจัดการศึกษาทางวิชาชีพ ด้านช่างอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม และเกษตรกรรมในพื้นที่ภาคเหนือมานานกว่า ๕๐ ปีโดยมี การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ พระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตครูอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรี จัดการศึกษาทางด้านอาชีวศึกษาในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม พัฒนาระบบการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและศักยภาพมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล”ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาและจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายแห่งชาติและความต้องการของตลาดแรงงานในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติฉบับเดิม และยกร่างเป็นพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน ๙ แห่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ มีผลให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เป็นมหาวิทยาลัย ๙ แห่ง โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เป็น ๑ ใน ๙ มหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย ๖ เขตพื้นที่ กับ ๑ สถาบัน คือ เขตพื้นที่น่าน เขตพื้นที่ตาก เขตพื้นที่พิษณุโลก เขตพื้นที่ภาคพายัพ เชียงใหม่ เขตพื้นที่ลำปาง เขตพื้นที่เชียงราย และสถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์จัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี โทและเอก
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2500 โดยใช้ชื่อว่า วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ต่อมาปี พ.ศ.2512 เปลี่ยนเป็น วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ ปี พ.ศ.2518 เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคภาคพายัพ ปี พ.ศ.2531 เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตภาคพายัพ และในปี พ.ศ.2548 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่ รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 65 ปี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2481 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนประถมอาชีพช่างไม้ ปี พ.ศ.2500 ได้รับการยกฐานะเป็นโรงเรียนการช่างตาก ปี พ.ศ.2510 เป็นวิทยาลัยเทคนิคตาก ปี พ.ศ. 2518 เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเทคนิคตาก ปี พ.ศ.2531 เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตตาก และในปี พ.ศ.2548 ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 84 ปี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน
โรงเรียนเกษตรกรรมน่าน ก่อตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พุทธศักราช 2481 ตามนโยบายการศึกษาของรัฐบาลในสมัยนั้นซึ่งกำหนดให้มีการศึกษาวิชาชีพให้เหมาะสมกับภูมิประเทศ ต่อมาในปี พุทธศักราช 2517 โรงเรียนเกษตรกรรมน่านจึงได้รับการยกฐานะให้เป็นวิทยาลัยเกษตรกรรม พุทธศักราช 2518 วิทยาลัยเกษตรกรรม ได้แยกตัวจากกรมอาชีวศึกษาและจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรน่าน ตามพระราชบัญญัติ “วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา” พ.ศ. 2518 และในปี พ.ศ. 2548 สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน วิทยาเขตน่าน จึงได้รับการสถาปนาเป็น “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาน่าน”รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 84 ปี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2496 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเกษตรกรรมพิษณุโลกปี ต่อมาปี พ.ศ.2509 ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเกษตรกรรมพิษณุโลก ปี พ.ศ.2518 เป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรพิษณุโลก ปี พ.ศ.2531 เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพิษณุโลก และในปี พ.ศ.2548 ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 69 ปี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง
ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2515 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเกษตรกรรมลำปาง และในปี พ.ศ.2518 ได้รับการยกฐานะเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วิทยาเขตเกษตรลำปาง ต่อมาในปี พ.ศ.2531 ยกฐานะขึ้นเป็น สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตลำปาง และในปี พ.ศ.2548 ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ลำปาง รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 50 ปี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เป็นสถาบันการศึกษาจัดการศึกษาด้านวิชาชีพด้านเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจัดตั้งขึ้น โดยได้รับการสถาปนาและวางศิลาฤกษ์ ในวันที่ 3 มกราคม 2538 เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส "กาญจนาภิเษก" พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี เพื่อเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษา และพัฒนาสู่ท้องถิ่นชนบท โดยมีพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานในเขตภาคเหนือตอนบน และในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ชาติ ที่เรียกว่า "เขตสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" โดยการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านบริการเพื่อสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และสังคมภูมิภาค เป็นสถาบันการศึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรม และในปี พ.ศ.2548 ได้รับการสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย รวมเวลาการก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน 27 ปี
คลังรูปภาพ : มทร.ล้านนา
ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา